แน่นอนว่าย่อมมีการคิดวิเคราะห์ในการบริหารทรัพย์สินเกิดขึ้น
ประเด็นที่คนสนใจคือ การย้ายทรัพย์สินให้ผู้อื่น ก่อนที่จะกลายเป็นมรดก (ม่องเท่งไปซะก่อน)
จะสามารถบริหารให้เกิดประโยชน์ทางภาษีได้หรือไม่
สิ่งสำคัญคือ จากการที่ สนช. ได้มีการร่าง พรบ. ภาษีการรับมรดก
ก็ได้มีการพิจารณาร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
โดยแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 42(10) และมาตราอื่นๆ
ซึ่งเป็นการระบุถึงเงินได้ยกเว้นภาษีที่มาจากการให้โดยอุปการะตามหน้าที่ธรรมจรรยา เช่น พ่อแม่ให้เงินเลี้ยงดูลูก
หรือให้โดยสเน่หาเนื่องในพิธีหรือขนบธรรมเนียมประเพณี
เช่น สินสอด ทองหมั้น ของขวัญแต่งงาน หรืองานอื่นๆ
รวมไปในส่วนที่เป็นการโอน อสังหาริมทรัพย์ ให้บุตรฟรีๆ
ไม่ได้ขาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม)
จากเดิมยกเว้นภาษี
กำลังจะมีการจัดเก็บภาษีแล้วครับ
แต่อย่าเพิ่งตกใจ ว่าชั้นให้ค่าขนมลูกไปเรียน
แล้วลูกชั้นต้องมายื่น ภงด. ตอนต้นปีด้วยเหรอนี่
มาดูรายละเอียดกันก่อนครับ
--------------------------------------
ตอนที่ 2 เราจะมาดูกันในเรื่องของ ภาษีการรับให้ (Gift Tax)
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ การให้ทรัพย์สินผู้อื่น เสียภาษีหรือไม่อย่างไร
หลักๆคือมาตรา 42(10) จะพูดถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
ซึ่งเป็นเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับ มรดกและการให้
แน่นอนว่า ถอดข้อความว่า "เงินที่ได้รับจากมรดก" ออกจากมาตรา 42(10) ก่อนเลยครับ
เพราะจะไปบังคับใช้ตาม พรบ. ภาษีการรับมรดกแทน
ส่วนการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
และการให้โดยสเน่หาเนื่องในพิธี
หรือขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของเราชาวไทย
ไม่มีอะไรซับซ้อน เสียภาษี 5% ครับ
แต่มีการกำหนดฐานภาษีที่ไม่ต้องเสียไว้ตามนี้ครับ
ทรัพย์สินที่ไม่ใช่ อสังหาริมทรัพย์
ถ้าให้คู่สมรส
และให้ ลูก หลาน เหลน บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรอง บุตรบุญธรรม พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
หากไม่เกิน 20 ล้านบาท ไม่เสียภาษี
ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษี 5%
*** หมายเหตุ ***
ตีความตามความหมายของ "ผู้สืบสันดาน" และ "บุพการี" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ถ้านอกเหนือจากข้างบน เรียกว่าเป็น "บุคคลอื่น"
หากไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่เสียภาษี
ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท เสียภาษี 5%
--------------------------------------
การโอน อสังหาริมทรัพย์ ให้ฟรีๆ
โอนให้ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม)
ได้รับการยกเว้นภาษี
แต่ถ้าไม่ใช่ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนการซื้อขายนะครับ
โอนให้บุตรบุญธรรม ก็ถือว่าเหมือนการซื้อขาย
หาก อสังหาริมทรัพย์ ที่โอนให้บุตร มีมูลค่า เกิน 20 ล้านบาท
ตาม พรบ. ฉบับแก้ไข เสียภาษีการรับให้ด้วยครับ
ผู้โอนเป็นผู้จ่าย หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยครับ
--------------------------------------
การคำนวณเงินได้จากการรับให้นี้ คำนวณเป็นปีภาษี
คือต่างปีภาษีก็เงินได้คนละจำนวน
เพราะมันเป็นกฎเกณฑ์ในประมวลรัษฎากร
ซึ่งมีการพิจารณาเงินได้และภาษีโดยคำนวณเป็นปีภาษี
--------------------------------------
จากร่าง พรบ. แก้ไขนี้สามารถวิเคราะห์เบื้องต้นได้ว่า
ถ้าในปีนึงท่านให้เงินลูกน้อยไปโรงเรียน รวมถึงการให้อื่นๆ
ไม่เกินเดือนละ 1,666,666 บาท หรือปีละ 20 ล้านบาท
ลูกน้อยไม่ต้องเสียภาษีการรับให้ตรงนี้นะครับ
สามารถใช้สอนให้ลูกน้อยใช้เงินอย่างประหยัดได้ครับ
หรือท่านที่จะจัดงานหมั้น งานแต่งงาน เลิศหรู อลังการ
ในงานหมั้น เงินสินสอด เรียงเป็นตับ
เงินสินสอด ทางฝ่ายชาย ให้พ่อแม่เจ้าสาว ตามขนบธรรมเนียมประเพณี
นั่นคือการให้บุคคลอื่น
หรือทองหมั้น เจ้าบ่าว ให้ เจ้าสาว ตามขนบธรรมเนียมประเพณี
ถ้าจดทะเบียนกันไปก่อนแล้ว ก็ถือเป็นการให้คู่สมรส
ถ้ายังไม่จดทะเบียนสมรส ก็เป็นการให้บุคคลอื่น
ส่วนจะเป็นการให้จริงหรือไม่
สรรพากรจะยึดหลักอย่างไร
ก็ถามเขาดูครับ อิอิ
เดี๋ยวพอประกาศใช้เรียบร้อย
น่าจะมีข้อสงสัยเป็นกรณีศึกษากันเยอะพอสมควร
--------------------------------------
การบริหารจัดการเรื่องการให้ทรัพย์สิน
ค่อนข้างมีวิธีแตกต่างไปตามบุคคล
เพราะขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่มี โครงสร้างทางครอบครัว และอื่นๆ
ดังนั้น ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกันเป็นรายบุคคลไปนะครับ