กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ Retirement Mutual Fund (RMF) ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ โดยผู้ที่ลงทุนใน RMF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่ากับยอดเงินลงทุน จำกัดสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
นั่นหมายความว่าหากท่านเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ในฐานใด การลงทุนใน RMF จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีในอัตรานั้น โดยที่ยังไม่รวมผลตอบแทนจากการลงทุนนั่นเอง เช่น ถ้าท่านมีเงินได้สุทธิก่อนการคำนวณภาษีเท่ากับ 750,000 บาท ซึ่งตกอยู่ในขั้นที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 15% การที่ท่านลงทุนใน RMF จำนวน 100,000 บาท จะทำให้เงินได้เพื่อเสียภาษีของท่านหลักหักค่าลดหย่อนต่างๆแล้วจำนวน 650,000 บาท เทียบได้กับว่าการซื้อ RMF ครั้งนี้ได้ภาษีคืนจากค่าลดหย่อนภาษีในอัตรา 15% นั่นเอง
ด้วยเงื่อนไขของ RMF ที่กำหนดให้ผู้ลงทุนต้อง ลงทุนสม่ำเสมอไม่น้อย 5 ปี และต่อเนื่องไปจนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ถึงจะขายได้ ซึ่งในกรณีที่จำเป็นสามารถหยุดพักการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปี หรือหากเป็นไปได้แนะนำว่าให้ซื้อตามกำหนดขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่เสียภาษี หรือ 5,000 บาทแล้วแต่ยอดใดจะต่ำกว่า เพื่อให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนทั้งยอดเงินลงทุนและกำไรส่วนต่างราคา ทำให้เงินลงทุนใน RMF นั้นถูกเก็บรักษา และเพิ่มพูนจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกนำออกมาใช้หากไม่จำเป็น จึงทำให้ RMF เป็นเครื่องมืออันดับต้นๆ ที่ควรเลือกใช้ในการวางแผนเพื่อการเกษียณ
นอกจากนี้แล้วนโยบายของ RMF นั้น ยังมีให้เลือกหลากหลายกว่า LTF ซึ่งเน้นลงทุนแต่ในตราสารทุนหรือหุ้นเป็นหลัก โดยนโยบายการลงทุนของ RMF มีให้เลือกตั้งแต่ตราสารตลาดเงิน ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้น กองทุนรวมอสังหาฯ ทองคำ หากท่านใดที่ไม่ชอบความเสี่ยงหรือกลัวการขาดทุนก็สามารถเลือกนโยบายตราสารตลาดเงินได้ ไม่ต้องถูกบังคับให้ลงทุนในหุ้นเหมือน LTF
อย่างไรก็ตามก่อนการตัดสินใจลงทุนใน RMF แนะนำว่าไม่ควรมองถึงเรื่องประโยชน์ทางภาษีเป็นปัจจัยหลัก แต่ควรพิจารณาถึงเงินที่ตั้งใจเก็บไว้ให้เพียงพอใช้ในยามเกษียณ และศักยภาพในการหาเงินของตนเองด้วย เพราะหากเรายังไม่ทราบจำนวนเงินที่ต้องเตรียม ก็คงไม่ทราบเงินลงทุนที่ต้องสะสมในแต่ละปีว่าเป็นเท่าไร โอกาสที่จะเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายก็คงเป็นเรื่องยาก เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นลองดูตัวอย่างนี้ครับ
ถ้าวันนี้คุณเริ่มลงทุนเดือนละ 2,000 บาท หรือปีละ 24,000 บาท แต่ตั้งเป้าว่าวันเกษียณอยากมีเงินเก็บ 15 ล้านบาท โดยมีเวลาเก็บเงินอีก 20 ปี คุณคิดว่าจะเก็บเงินทันไหมครับ มิเช่นนั้นคุณอาจจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น จนเกินกว่าระดับที่ท่านยอมรับได้ เพื่อให้เงินออมของท่านเติบโตได้ทัน และเช่นกัน บางท่านอาจจะทราบตัวเลขในใจแล้วว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไร แต่การแบ่งเงินจำนวนมากๆมาลงทุน ก็อาจจะกระทบกับสมดุลด้านอื่นในชีวิตได้ ดังนั้นก่อนการซื้อ RMFควรพิจารณาถึงเรื่องจำนวนเงินและระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวท่านด้วย
แล้วถามว่าเราควรจะจัดสรรเงินลงทุนในกองทุน RMF อย่างไรดี? เนื่องจาก RMF ถือเป็นการลงทุนระยะยาวอาจจะหลายสิบปี ผู้ลงทุนจึงอาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงได้ เมื่อเทียบกับการลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ แต่หากปัจจุบันท่านมีการลงทุนใน LTF เต็มจำนวนแล้ว ซึ่ง LTF มีนโยบายลงทุนให้หุ้นเป็นหลัก ท่านอาจเลือกซื้อ RMF ที่กระจายความเสี่ยงไปยังตราสารประเภทอื่นๆบ้าง เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น
ถึงแม้เราจะสามารถเลือกลงทุน RMF ได้หลากหลายนโยบายการลงทุน แต่แนะนำว่าไม่ควรกระจายการลงทุนหลายกองทุน และหลายบลจ.มากจนเกินไป มิเช่นนั้น ทุกต้นปี ท่านอาจจะต้องมาวุ่นวายวิ่งหาเอกสารประกอบภาษีได้
อย่างในช่วงสิ้นปีที่ราคาสินทรัพย์อาจจะขึ้นมาค่อนข้างสูง ท่านอาจจะเลือกลงทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือตราสารตลาดเงินที่ความเสี่ยงน้อยก่อน และรอจังหวะที่ราคาหุ้นปรับลงมา แล้วจึงสับเปลี่ยนจากนโยบายที่เสี่ยงต่ำไปยังหุ้นได้ เช่นกัน
ในการคัดเลือกกองทุน RMF ว่าควรเลือกกองทุนของบริษัทจัดการฯ ที่ไหนนั้น เสนอว่านอกจากผลการดำเนินงานแล้ว ควรพิจารณาในเรื่องของค่าใช้จ่ายด้วย เพราะถ้าท่านตั้งใจเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณ ซึ่งอาจเป็นเวลายาวนาน 20-30 ปี หากกองทุน RMF ที่เราเลือกมีค่าใช้จ่ายที่สูง จะกระทบกับจำนวนเงินที่ได้รับ ณ วันเกษียณได้ อย่างเช่น หากลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีค่าใช้จ่ายกองทุนรวมปีละ 2% หากลงทุนไป 30 ปี นั่นหมายความว่า เงินคุณหายไปไม่ต่ำกว่า 60% เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเทียบในเรื่องของอัตราผลตอบแทนที่ได้รับด้วยว่าคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เราเสียหรือไม่
ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียตลอดระยะเวลาลงทุนแล้ว ในกรณีที่ท่านต้องการสับเปลี่ยนกองทุน โดยปกติการสับเปลี่ยนกองทุน RMF ระหว่างบลจ.มักจะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่น้อยเลย บางครั้งอาจจะสูงถึง 1% แต่การสับเปลี่ยนภายในบลจ. ในบางแห่งการสับเปลี่ยนกองทุน RMF ภายในอาจไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นถ้าท่านตั้งใจว่าจะสับเปลี่ยนกองทุนบ่อยๆ แนะนำว่าให้พิจารณาบลจ.ที่มีประเภทกองทุน RMF ที่หลากหลายและมีค่าใช้จ่ายสับเปลี่ยนต่ำๆ หรือไม่มีค่าใช้จ่าย
จะเห็นได้ว่า RMF มีจุดดีหลายข้อที่น่าสนใจไม่แพ้ LTF เลย ซึ่งถ้าหากท่านสนใจ RMF และเริ่มลงทุน ถึงแม้ว่าการ RMF จะเป็นการลงทุนระยะยาว แต่ท่านก็ควรจะติดตามดูผลการดำเนินงานของกองทุนที่ลงทุนด้วย และควรพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนให้เป็นไปตามสัดส่วนที่เรากำหนดไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าเงินก้อนนี้จะเติบโตไปตามเป้าหมายที่ท่านตั้งใจ