อย่าเพิ่งกังวลไปครับ โชคดีที่ปัจจุบันหลายๆบริษัทมีแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (PVD) ให้แก่พนักงาน ซึ่งจะช่วยให้ท่านมีเงินก้อนจำนวนไม่น้อยในวันที่ออกจากงาน เพราะนอกจากเงินที่ท่านสะสมเข้าไปในกองทุนแล้ว ท่านยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างและผลตอบแทนจากการลงทุนตลอดระยะเวลาการทำงาน
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับเงินก้อนจาก PVD ไป หลายครั้งเงินก้อนดังกล่าวถูกนำไปใช้จนหมดก่อนถึงเวลาอันควร ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ดังนั้นก่อนที่จะนำเงินออกมา อยากให้ทุกท่านทราบทางเลือกในการรับเงินจาก PVD และเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ท่านสามารถจัดการเงินของท่านได้อย่างเหมาะสม และไม่ถูกนำไปใช้เกินกว่าความจำเป็น
กรณีเกษียณอายุ
หากท่านเป็นสมาชิก PVD ครบ 5 ปี และอายุครบ 55 ปี ขึ้นไป สามารถเลือกรับเงินได้ดังนี้
- เลือกคงเงินทั้งหมดไว้ใน PVD
- โอนเงินไปยัง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- ถอนออกบางส่วน หรือทยอยถอนออก
- ทยอยรับเงินเป็นงวด
- ถอนออกบางส่วน ที่เหลือทยอยถอน
- ถอนออกทั้งจำนวน
กรณีออกก่อนเกษียณ
หากท่านออกจากงานโดยไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น ท่านอาจมีทางเลือกในการจัดการเงิน PVD ได้ไม่มากนัก ดังนี้
- รับเงินออกทั้งจำนวนและนำเงินไปบริหารด้วยตนเอง
แต่ถ้าท่านเป็นสมาชิก PVD มาแล้ว 5 ปีขึ้นไป ท่านสามารถนำยอดเงินข้างต้นมายื่นภาษีในใบแนบได้ ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถบริหารภาษีได้ดียิ่งขึ้น
- คงเงินไว้เพื่อรอการโอนย้ายหรือเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ทางภาษี
- เลือกโอนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
วิธีการนี้จะช่วยให้ท่านมีทางเลือกในการบริหารเงินออมของท่านที่มากขึ้น ผ่านกองทุน RMF ที่มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ท่านเลือกโอนไป โดยเงื่อนไขทางภาษียังคงเสมือนกับการคงเงินไว้ใน PVD และไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมต่อเนื่องเหมือนกันการซื้อ RMF กรณีทั่วไป
ทั้งนี้ทางเลือกข้างต้น ไม่ว่ากรณีที่ครบเงื่อนไขอายุสมาชิกกองทุนฯ และอายุของท่านเอง หรือไม่ก็ตามท่านจะต้องตรวจสอบข้อบังคับหรือเงื่อนไขกองทุนที่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดไว้กับบริษัทจัดการไว้ด้วย เช่น PVD ของบางบริษัท กำหนดให้คงเงินกองทุนได้ไม่เกิน 3 ปี บางบริษัทให้เลือกรับเงินแค่ปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น
เห็นได้ว่าปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้เปิดทางเลือกให้พิจารณารับเงินจาก PVD ได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นท่านจึงควรวางแผนรายได้รายจ่ายในช่วงหลังออกจากงานล่วงหน้า เพื่อที่จะสามารถเลือกวิธีรับเงินได้ตรงกับไลฟ์สไตล์ และมีเงินเพียงพอใช้ไปตลอดชีวิต