• หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
    • ภาพรวม
    • ทีมวิทยากร
  • หลักสูตรอบรม
    • หลักสูตรอบรมการวางแผนการเงิน CFP®
    • Module 1
    • Module 2 หลักสูตรเดิม
    • Module 2 หลักสูตรปรับปรุงใหม่
    • Module 3
    • Module 4
    • Module 5
    • Module 6
    • หลักสูตรเตรียมความพร้อมเพื่อสอบ
    • Module 1
    • Module 2 หลักสูตรเดิม
    • Module 2 หลักสูตรปรับปรุงใหม่
    • Module 3
    • Module 4
    • Module 5
    • Module 6
    • E-Learning
    • ทบทวนหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP®
    • เตรียมสอบหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP®
    • เตรียมสอบใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน IC
    • เพิ่มความรู้และทักษะการเงิน
  • อบรมภายในองค์กร
    • หลักสูตรอบรมภายในองค์กร (In-House)
  • สมัครอบรม
    • หลักสูตรอบรมและทบทวนการวางแผนการเงิน
    • คอร์สเรียนออนไลน์ E-Learning
  • ปฏิทิน
  • กิจกรรม
  • ข้อมูลควรรู้
    • บทความ
    • Investment Planner (IP)
    • Investment Consultant (IC)
    • About CFP
    • คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP®
      • ข้อกำหนดด้านการศึกษา
      • ข้อกำหนดด้านการสอบ
  • ความประทับใจ
  • ติดต่อเรา

ทางเลือกการลงทุนใน STARTUP

Post Title
19 ก.พ. 2562
ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนานรวมถึงอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างปรับลดลง ทำให้นักลงทุนพยายามแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นนอกเหนือไปจากการลงทุนในรูปแบบเดิม ธุรกิจ Startup ซึ่งดำเนินธุรกิจโมเดลใหม่ๆ สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และสร้างอัตราผลตอบแทนในอัตราเป็นหลักเท่าตัว จึงเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน

แต่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคาดหวังสูง ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่จำเป็นก่อนตัดสินใจลงทุน คอลัมน์ The Interview ฉบับนี้ สมาคมนักวางแผนการเงินไทยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวง Startup มาให้ข้อมูลและคำแนะนำการลงทุนใน Startup ให้ผู้อ่านทุกท่านทราบกัน


คุณพงศ์ปิติ เอกเธียรชัย

ผู้อำนวยการ บริษัท ไลฟ์ ฟินคอร์ป จำกัด

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจ Startup ได้รับความสนใจ

ตั้งแต่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของโลกปี 2008 ส่งผลให้แรงงานในระบบต้องออกจากงานมาเป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นจึงได้ออกมาทำธุรกิจของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนกิจการขนาดกลางและเล็ก รวมถึงธุรกิจ Startup เพิ่มขึ้นมากมาย  สำหรับในประเทศไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ภาครัฐจึงมีนโยบายออกมาสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อเป็นกลไกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ธุรกิจ Startup คืออะไร

หัวใจหลักของการเป็นธุรกิจ Startup คือ การเป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรม สามารถทำซ้ำ (Repeatable) ขยายตลาดได้ง่าย (Scalable) และเติบโตแบบก้าวกระโดด (Exponential growth) เช่น เติบโตในอัตรา 10 เท่าต่อปี โดยใช้ Software เข้ามาเป็นรากฐานสำคัญในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้สะดวก

ในบริบทของประเทศไทย อาจจะไม่ได้มีธุรกิจในลักษณะนี้ 100% ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของธุรกิจ SME ที่อาศัยนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดเงิน ตลาดทุน และอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินที่ต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี จึงได้พัฒนาอีกหนึ่งช่องทางการลงทุน ที่ชื่อว่า LIVE Platform เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุนที่สนใจใน Startup และบริษัท Startup ที่ต้องการแหล่งเงินทุนสำหรับขยายกิจการ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและเล็กเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก

ความแตกต่าง และความท้าทายของการลงทุนใน Startup

นอกจากอัตราการเติบโตและผลตอบแทนที่คาดหวังสูงแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องคำนึงถึงคือ การที่ Startup เป็นธุรกิจเริ่มต้นที่ยังไม่ mature และโอกาสเติบโตเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จยังไม่ชัดเจน ซึ่งจากสถิติแล้วมีเพียง 5% ของธุรกิจเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ เช่น ถูกบริษัทอื่นซื้อกิจการ หรือการได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น

นักลงทุนที่สนใจต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจอย่างมากในการศึกษา Startup เพราะการวิเคราะห์งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงินอาจจะไม่สามารถช่วยในการวิเคราะห์เหมือนกิจการที่เข้าสู่ช่วงการเติบโตแล้ว และควรมุ่งเน้นการติดตามการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้จัดสรรเพื่อวัตถุประสงค์ที่ได้นำเสนอและเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด

อีกสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญก็คือ ทีมงานบริหาร ผู้ก่อตั้งของ Startup เนื่องจากจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ผลักดันการดำเนินงานต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องเป็นทีมงานที่มีประสบการณ์ตรง และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ รวมถึงการแบ่งหน้าที่การทำงานในส่วนงานหลักๆ กันอย่างครบถ้วน

ตรวจสอบตนเองว่าเหมาะกับการลงทุนในธุรกิจ Startup หรือไม่

ก่อนตัดสินใจลงทุนใน Startup นักลงทุนควรพิจารณาตนเองก่อนว่ามีความพร้อมหรือความเข้าใจการลงทุนใน Startup ขนาดไหน เพื่อเป็นการปกป้องผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงออกแบบทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับ Startup เพื่อให้ผู้สนใจตรวจเช็คตนเองก่อนเริ่มลงทุน โดยเน้นถึงความเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุน

แบบทดสอบผู้ลงทุน

1

กิจการที่เพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจมีความเสี่ยงในการไม่ประสบความสำเร็จ

2

การลงทุนในกิจการ SMEs/ สตาร์ตอัพ หากกิจการล้มเหลว ผู้ลงทุนจะสูญเสียเงินลงทุนในกิจการนั้นทั้งหมด

3

การลงทุนในกิจการ SMEs/ สตาร์ตอัพ ควรลงเงินในหลายๆ กิจการ เพื่อลดความเสี่ยงในความล้มเหลว และสูญเสียเงินต้น

4

ข้อมูลในการเสนอขายหุ้นของกิจการ SMEs/ สตาร์ตอัพ ไม่ต้องมีการผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากทางการ

5

ข้อมูลที่ควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนกิจการคือ ประมาณการงบการเงิน แผนธุรกิจ และโครงสร้างผู้บริหาร

6

การเพิ่มทุนของกิจการ SMEs/ สตาร์ตอัพ จะส่งผลต่อราคาซื้อขายหรือสิทธิการออกเสียงที่ปรับลดลงตามสัดส่วน (Dilution)

7

การจองซื้อหุ้นของกิจการ SMEs/สตาร์ตอัพ ไม่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามพรบ.หลักทรัพย์ได้

8

การลงทุนในกิจการ SMEs/ สตาร์ตอัพ จะไม่สามารถขายหุ้นได้ง่ายๆ เว้นแต่กิจการถูกซื้อไป หรือขายเปลี่ยนหุ้นในรูปแบบ OTC ซึ่งอาจจะได้เงินลงทุนคืนทั้งหมด หรือบางส่วน และผู้ก่อตั้งกิจการไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นคืน

9

กิจการ SMEs/ สตาร์ตอัพ โดยทั่วไปอาจจะจ่ายหรือไม่จ่ายเงินปันผลตามนโยบายบริษัท

10

การลงทุนในหลักทรัพย์ (หุ้น) ไม่มีการรับประกันผลตอบแทน

ที่มา: บริษัท ไลฟ์ ฟินคอร์ป จำกัด


LIVE Platform ช่องทางการลงทุนใน Startup

LIVE Platform ของทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหนึ่งในรูปแบบการระดมทุนแบบ Equity Crowd funding ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนใน Startup ข้อดีคือ มีการเปิดเผยข้อมูลและใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการลงทุนรูปแบบอื่น อย่างการลงทุนผ่าน Venture Capital (VC) อาจต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเป็นหลักล้านบาท นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ของ Startup ผ่าน Platform ของ LIVE คล้ายกับการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ลงทุนอีกด้วย

การลงทุนใน Startup เปรียบได้กับการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ก็มีโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงมากเช่นเดียวกัน นักลงทุนควรมีประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของกิจการที่ตนเองสนใจลงทุน และมีบทบาทมากกว่าการเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจรวมถึงการเป็นลูกค้าของกิจการเอง ช่วยทำการตลาด สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และการเป็นที่ปรึกษาให้กับกิจการของตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จ

ตารางเปรียบเทียบกับรูปแบบการลงทุนอื่นๆ

Initial  Coin Offering (ICO)

Equity Crowd funding (ECF)

Reward Crowd funding

Venture Capital (VC)

Initial Public Offering (IPO)

ระยะของธุรกิจ

Idea to Prototype

Prototype

Prototype

Early to Growth

Growth

ความเป็นเจ้าของธุรกิจ

ไม่ใช่

ใช่

ไม่ใช่

ใช่

ใช่

การเผยแพร่ข้อมูล

White paper

Educational material

Educational material

Pitch Deck

Prospectus

กลุ่มเป้าหมาย

คนที่สนใจ Blockchain และ Cryptocurrency

Angel Investors

คนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่

กลุ่มทุนที่แสวงหาผลตอบแทน

คนทั่วไป

ระยะเวลาระดมทุน

น้อยกว่า 1 เดือน

1-3 เดือน

1-2 เดือน

3-12 เดือน

มากกว่า 12 เดือน

ค่าใช้จ่ายการระดมทุน

ต่ำ

ปานกลาง

ต่ำ

สูง

สูง

ช่องทางการระดมทุน

Online

Online

Online

Offline

Offline

สภาพคล่อง

ปานกลาง

ต่ำ

ต่ำ

ต่ำ

สูง

ความเสี่ยง

โครงการล้มเหลว

ล้มละลาย

โครงการล้มเหลว

ด้อยค่า, ล้มละลาย

ราคาผันผวนตามสภาพธุรกิจ

ที่มา. SET, Digital Ventures


คุณธนพงษ์ ณ ระนอง

กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด

 

ในฐานะที่อยู่ในวงการ Startup และมีประสบการณ์ลงทุนใน Startup ไทย มีมุมมองเกี่ยวกับ Startup อย่างไร

ในมุมมองของผม Startup ก็คือ SME ประเภทหนึ่งที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือเรียกว่า Innovation Driven Enterprise โดยการจะเป็น Startup ได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 สิ่ง คือ ต้องเป็นไอเดียหรือความคิดใหม่ๆ  (New idea) สามารถทำซ้ำได้ (Repeatable) และขยายตัวได้ (Scalable)

ไอเดียใหม่ในที่นี้อาจจะไม่ใช่ความคิดแรกในโลกก็ได้ แต่ขอให้ยังไม่มีใครเป็นผู้นำที่ชัดเจนในตลาดนั้นๆ ที่สำคัญธุรกิจต้องดำเนินในลักษณะ Lean และสามารถขยายธุรกิจได้โดยส่วนของต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ทำให้ Startup ส่วนใหญ่ทำธุรกิจบน IT Platform ซึ่งทำได้ง่าย รวดเร็ว มีช่องทางจำหน่ายหรือเข้าถึงลูกค้าได้สะดวกและง่ายกว่าช่องทางรูปแบบเดิม

อีกสิ่งสำคัญคือทีมงานต้องมี Passion ในธุรกิจที่ทำและมีความเป็น Entrepreneurship เขาต้องยอมทุ่มเต็มที่ อดทน และพยายามพัฒนาธุรกิจไปถึงจุดที่ตลาดยอมรับและสามารถทำให้ธุรกิจนั้นเติบโตได้แบบก้าวกระโดด


การลงทุนรูปแบบเดิมเริ่มไม่น่าสนใจ หากสนใจลงทุน Startup มีความเสี่ยงมากไหม

ถ้าไล่ตั้งแต่การฝากเงิน พันธบัตร กองทุน หุ้น การลงทุนใน Startup น่าจะมีความเสี่ยงที่สุดแล้ว แต่หากเจอ Startup ที่ประสบความสำเร็จก็จะให้ผลตอบแทน 5 เท่าเป็นอย่างน้อย ซึ่งในแง่ของ Venture Capital หรือ VC เองก็มีหน้าที่ที่จะต้องหา Startup ที่สำเร็จให้เจออย่างน้อย 2-3% ของเงินลงทุนถึงจะคุ้ม

นักลงทุนลักษณะใดที่เหมาะสมกับการลงทุนใน Startup

นักลงทุนที่เหมาะสมกับการลงทุนใน Startup ควรเป็นนักลงทุนระยะยาว อย่าง VC เองการลงทุนแต่ละ Startup จะมีช่วงระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี โดยช่วง 5 ปีแรกจะอยู่ในช่วงการสร้างและพัฒนา Product ส่วนอีก 5 ปีหลังคือช่วงเวลาที่จะต้อง Exit นอกจากนี้แล้วสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะต้องมีคือ มี Mind set เดียวกับ Startup และถ้ามีความเข้าใจในธุรกิจที่จะลงทุนด้วยก็จะดีมาก ไม่เพียงแต่จะช่วยเขาแค่เงินลงทุนเพียงอย่างเดียว ถ้าหากมี Networking มาเป็นส่วนเสริมก็จะช่วย Startup ในการขยายธุรกิจไปได้อีกด้วย

มีคำแนะนำสำหรับผู้สนใจอย่างไรบ้าง

สำหรับ Individual Angel ถ้าเขามีเงิน 100 ล้านบาท ไม่ควรลงใน Startup เกินสัดส่วน 15% ของพอร์ตการลงทุน หรือคิดเป็นเงินจำนวน 15 ล้านบาท ที่เหลือไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น และเงิน 15 ล้านบาทนี้ ควรกระจายลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท ซึ่งถ้าหาก 1 ใน 10 บริษัท กำไร 10 เท่า ก็จะคุ้มทุนทันที  แต่จากสถิติในอดีต โอกาสสำเร็จอยู่ที่ 5.9 บริษัท ใน 100 บริษัทเท่านั้น

หากสนใจลงทุนใน Startup สามารถลงผ่านช่องทางใดได้บ้าง

ทางเลือกลงทุนมีหลายวิธี เช่น ให้เงินลงทุนโดยตรง (Angel investor) ลงทุนผ่าน Crowd funding หรือผ่าน VC สำหรับประเทศไทยเองยังขาด Angel investor ที่จะมาช่วยลงทุนด้วยซ้ำ แต่จากประสบการณ์พบว่า Angle ในไทยกับต่างประเทศต่างกันค่อนข้างเยอะ ในต่างประเทศคนที่เป็น Angle มักมาจากตระกูลที่มีความมั่งคั่งสูง มีเงินเหลือเยอะ เลยแบ่งเงินบางส่วนมาช่วย Startup ในขณะที่ Angel ไทยส่วนใหญ่มักเป็นนักลงทุน VI ที่สนใจตลาดนี้ แต่พอเข้าใจว่าความเสี่ยงสูงบางคนจึงเอาเงินกลับไปซื้อกองทุน ซื้อหุ้นเหมือนเดิมดีกว่า มีเพียงไม่กี่รายที่รู้สึกชอบและลงทุนจริงๆ หรือบางคนที่คิดว่าจะลงทุนก็ต่อเมื่อมีธุรกิจของตัวเองที่มีความเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น

ในต่างประเทศบางครั้ง รุ่นพี่ที่เคยประสบความสำเร็จจากการทำ Startup ก็จะเอาเงินที่ได้มาลงทุน และให้คำปรึกษาแก่รุ่นน้อง ซึ่งในไทยปัจจุบันยังมีอยู่น้อยมาก

ส่วนใหญ่ในไทยเงินลงทุนกว่า 70% อยู่ในกลุ่ม Corporate Venture Capital (CVC) จะตั้งโดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และบริหารกันเอง ซึ่งนักลงทุนรายย่อยทั่วไปเข้าไม่ถึง


ถ้าจะลงทุนใน Startup ควรมีเงินลงทุนเท่าไร

วันนี้ถ้าหากสนใจลงทุนใน Seed stage อย่างน้อยต้องลงทุนบริษัทละ 10 ล้าน หากลงกระจาย 10 บริษัท รวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท คือถ้าบอกว่าควรลงไม่เกิน 10%-15% ของพอร์ต จะต้องมีทรัพย์สินประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งถ้าเสียหายก็ไม่ได้กระทบกับสถานะการเงินมากนัก ตัวอย่างในไทยหลายครั้งลงแบบลงขันร่วมกัน (Consortium) ต่อครั้งประมาณ 10 คน ลงทุนเป็นหลัก 5 แสน 1 ล้านเหรียญ หรืออย่างน้อย 10 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะใช้เงินลงทุนน้อยลง แต่ถ้ามีเงินไม่มากและสนใจที่จะลงทุน แนะนำว่าให้ลงทุนผ่านพวก Crowd funding อาจจะใช้เงินลงทุนต่อเคสหลักแสนบาทได้เช่นกัน

ในมุมมองของ VC ทำอย่างไรถึงจะลงทุนแล้ว Success

จริงๆ เรามอง Startup เหมือนหุ้น  แต่เราจะดูไปถึงขั้นที่ว่าถ้าเราซื้อไปแล้วจะขายต่อให้ใครได้ ซึ่งเรารู้ว่าเขาสนใจ Startup แบบนี้ไหม ดังนั้น อาจจะคุยกับ CVC ก่อนเลยว่า Startup นี้คุณสนใจลงทุนมั้ย ถ้าสนใจเราจะลงทุนเป็น Angel ให้เขาช่วยดูแลจนโตแล้วจึงมาเสนอขายให้เขาในภายหลัง ซึ่งการขอเงินลงทุนจาก VC แต่ละรอบ Startup อาจจะเสียหุ้นโดยประมาณ 20% แต่ในขณะเดียวกันก็จะแลกกับมูลค่าหุ้นที่แพงขึ้น

หากลงทุนไปแล้วไม่เป็นไปอย่างที่คิดจะทำอย่างไร

ที่ผ่านมาบางบริษัทพยายาม IPO แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะราคาตอนระดมทุนช่วง Series A นั้นสูงเกินไป  เนื่องจากสเกลไม่ได้ รายได้ยังทำไม่ได้เท่ากับที่คาดไว้ บางบริษัทอาจจะต้องจับรวมกันเอง หรือขายให้กับบริษัทอื่น หรือถ้าขาย ปิดธุรกิจลงก็อาจจะไม่ได้มีเงินเหลือมาก เพราะไม่ได้มีทรัพย์สินอะไร ยังคงต้องพยายามปั้นกันต่อไป

ท้ายสุดนี้อยากฝากอะไรกับผู้ลงทุน

การลงทุนใน Startup มีความเสี่ยงสูง คนที่จะลงทุนต้องมีความเข้าใจตลาดนี้อย่างดี ดูออกว่าอันไหนของแท้ของปลอม อยากให้มีนักลงทุนที่เป็น Angel มาช่วยสนับสนุน Startup ไทยให้มากขึ้น นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐบาล และช่วยกันสร้าง Ecosystem ที่สนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์มที่ดี ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจไทยให้ดีขึ้นตามไปด้วย


โอฬาร วีระนนท์

CEO & Co-founder บริษัท ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน จำกัด (DURIAN)

สำหรับคุณ Startup คืออะไร

Startup ก็คือ SME นั่นแหละครับ เพราะทุก Startup ต้องเกิดจาก SME มาก่อน แต่ไม่ใช่ทุก SME จะกลายเป็น Startup ได้ SME ที่สามารถ Transform เป็น Startup ได้ พวกนี้ต้องมีความสามารถ 3 อย่าง คือ ต้องทำซ้ำ (Repeat) ขยายได้อย่างรวดเร็ว (Scale) และ เติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับเป็นเท่าตัว (Growth) โดยทั้งสามอย่างนี้ต้องมี Innovation เป็นพื้นฐาน ใช้คนอย่างเดียวไม่เวิร์ค

การลงทุนใน Startup มีความน่าสนใจอย่างไร             

มีการศึกษาว่าหากลงทุนใน Startup เพียง 5% ของพอร์ตการลงทุน จะช่วยให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 12-15% ต่อปี แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า Startup มีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนปกติมาก

ถ้ามองในแง่ของนักลงทุน การที่เราเอาเงินไปลงใน Startup กับลงใน SME ต่างกันอย่างไร

การลงทุนใน SME ธุรกิจจะมีความ Mature มากกว่า แต่โอกาสเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาร่วมลงทุนคงมีไม่มากนัก เพราะเงินของ SME มักจะมาจากเงินของตัวเจ้าของเองและจากกำไรที่ได้จากธุรกิจ อีกส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้เป็นหลัก แต่ข้อดีคือ มีประวัติการดำเนินงานมาแล้ว ความยากอยู่ตรงข้อมูลทางการเงินที่อาจจะมีไม่ครบถ้วน และที่สำคัญคือ ธุรกิจผูกติดกับคนก่อนตั้ง นั่นแปลว่าถ้าเราลงทุนไป แล้วเขาไม่อยู่ ก็อาจจะไปต่อไม่ได้

แต่พอมาเป็น Startup ข้อดีคือ เป็นระบบ เป็น Platform ซึ่งทรัพย์สินอยู่ติดกับบริษัทเป็นส่วนใหญ่ และเรื่องการหาเงินทุน Startup เองใช้ระบบ OPM (Other People Money) หรือใช้เงินของคนอื่นเข้ามาช่วย นักลงทุนจึงสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า สำหรับการวิเคราะห์ Startup มีองค์ประกอบหลายอย่างแต่สำคัญที่สุดคือTiming และ Team โดยทีมงานต้องมีความสามารถลงมือทำให้แนวคิดเกิดเป็นธุรกิจจริง  ดังนั้น เวลาลงทุนใน Startup เราจะพิจารณาเรื่องทีมบริหารละเอียดกว่าการลงทุนใน SME ถึงขนาดว่าถ้าคนใดคนหนึ่งเลิกไปจะกระทบอะไรกับทีม

เปรียบเทียบระหว่างการลงทุนใน Startup กับการลงทุนในหุ้น

หุ้นปกติที่เราซื้อขายกันผ่านตลาดหลักทรัพย์คือ หุ้นที่จดทะเบียนแล้ว ดังนั้น ความเสี่ยงน้อยกว่าเยอะ อย่างมากคือ เสี่ยงที่หุ้นจะติดดอย โอกาสที่จะถูก De-list มีน้อยมาก แต่สำหรับ Startup มีเยอะมากที่หายไปจากตลาด คือเสี่ยงกว่าหุ้นเยอะ ส่วนที่คล้ายกันคือ การวิเคราะห์การลงทุนสามารถใช้หลักการเดียวกันได้ แต่อาจจะให้ความสำคัญในรายละเอียดกับบางเรื่องต่างกัน

การลงทุนใน Startup เสี่ยงขนาดไหน คุ้มกับการลงทุนหรือไม่

ใน Startup จำนวน 100 บริษัท จากสถิติที่ผ่านมามีบริษัทที่สามารถโตไปถึง Series A หรือ B ได้ มีอยู่ประมาณ 3-4 บริษัทเท่านั้น อีก 30-50 บริษัทอาจจะเป็นกลุ่มซอมบี้ คือไม่ตายแต่อาจจะโตได้ปีละ 10-15% ส่วนที่เหลืออาจจะเจ๊งไปเลยก็มี แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ต่างจากสถิติของ SME ไทยซึ่ง 3 ปี จะมีธุรกิจล้มไป 70% เหมือนกัน ดังนั้น ความเสี่ยงเมื่อเทียบกับ SME ก็ถือว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ถึงจะเสี่ยงมาก แต่คุ้มค่า Startup ที่ดีการเติบโตในระดับ 4-5 เท่า ใน 5 ปีแรกถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบาง Startup ในต่างประเทศโตเป็น 100-1000 เท่า อย่างในไทยที่ผ่านมายังเห็นแค่ 20-30 เท่า

ถ้าเช่นนั้นเราควรจะพิจารณาเลือก Startup อย่างไร

อย่างแรกเลยคือ การวิเคราะห์ทีม ทีมที่ดีต้องมี 3 H อยู่ในทีม คือ Hustler (เก่งธุรกิจ) Hacker (เก่งด้านเทคนิค) และ Hipster (เก่งด้านความคิดสร้างสรรค์) นอกจากนี้แล้ว ต้องดูด้วยว่าทีมนั้นมีเคมีตรงกับเราไหม เพราะถ้าคุยกันแล้วเข้ากับเราไม่ได้...จบเลย อย่างเวลาเราให้เงินเขาไป แล้วเขาไม่ฟังที่เราแนะนำเลย หรือให้ข้อมูลเราไม่ได้ ก็คงไม่น่าสนใจ แต่ถ้าเจอทีมที่เก่ง แม้ไอเดียจะไม่น่าสนใจนัก หากได้นักลงทุนที่ดีมาช่วยให้คำแนะนำ เปลี่ยนแนวคิดนิดเดียวอาจจะวิ่งเลยก็เป็นได้

อีกเรื่อง เวลาลงทุนในตลาดหุ้น ธุรกิจมักจะมีวัฏจักรขึ้นลง ซึ่งเราพอจะคาดการณ์ได้ แต่สำหรับ Startup ถึงแม้ความคิดดีของธุรกิจดีมาก แต่เทคโนโลยียังพัฒนาไม่ได้ ตลาดเองยังมีความรู้ไม่มากพอ ลงทุนผิดช่วงก็อาจสูญเงินได้ เพราะถ้าตลาดยังไม่มา เงินที่เอามาใช้ทำการตลาดอาจหมดก่อน และหากระดมทุนต่อไม่ได้ก็จบ ดังนั้น Timing ก็เป็นเรื่องสำคัญมากก่อนตัดสินใจลงทุน

Bill T. Gross ผู้ก่อตั้ง IdeaLab ได้ให้คำแนะนำตัวแปรที่ทำให้ Startup ประสบความสำเร็จเอาไว้ 5 ข้อ ได้แก่ จังหวะการลงทุน ทีมงาน ไอเดีย วิธีการทำเงิน และเงินทุน ถ้าสนใจแนะนำให้ไปฟังเพิ่มใน TED Talk ได้

ทำอย่างไรถึงจะหลีกเลี่ยงหรือลดโอกาสในการขาดทุน

แน่นอนต้องเลือกให้ดี เหมือนการลงทุนในสินทรัพย์อื่นเลย ดูตัวเองก่อนว่าเรารับความเสี่ยงได้ขนาดไหน ถ้าเรารับความเสี่ยงได้น้อย ก็อย่าลงทุนเยอะ

ทั้งเมื่อเราเป็น Angels วงเงินที่เราลงทุนได้ อาจไม่มากถ้าเทียบกับ VC หรือ CVC ดังนั้น ส่วนใหญ่เราจะสามารถลงทุนในช่วง Early stage หรือ Seed stage ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะใน Stage แรกๆ ไอเดียยังไม่ Solid พอ ทั้งยัง Implement ในวงจำกัด แต่ก็เป็นโอกาสที่เราลงทุนได้ ดังนั้น ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่าง “ความเสี่ยง” และ “โอกาสในการได้รับผลตอบแทนการลงทุน” ให้ดี

แต่หากเราอยากจะลดความเสี่ยง เราก็อาจไปลง Later stage ซึ่งอาจจะต้องแลกกับราคาที่สูงขึ้นมากหลายเท่าตัว และใช้วงเงินในการลงทุนมากขึ้น จนทำให้หลานครั้งเราไม่สามารถลงทุนด้วยตัวคนเดียวได้ ต้องไป Co-invest กับผู้อื่น หรือลงทุนใน VC อีกที

สิ่งสำคัญคือ “อย่าลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้” และ “อะไรดูดีเกินจริง มักไม่มีจริง” ถ้าคุณเป็น Angel คุณก็ควรที่จะลงทุนในธุรกิจที่คุณเข้าใจ หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจคุณ เพื่อที่คุณจะสามารถอ่านเกมได้ เหมือนเวลาเราลงทุนในหุ้น เราก็ควรอ่านรายงานประจำปี อ่านงบการเงินต่างๆ เพื่อเข้าใจว่าธุรกิจเขาทำอะไร แนวโน้มเป็นอย่างไร

ช่องทางการลงทุน Startup ในปัจจุบัน

หากวันนี้สนใจลงทุนใน Startup มีช่องทางให้เข้าถึงหลายวิธี

              1. ไปงาน Event งาน Exhibition ต่างๆ อย่างงาน Digital Thailand Bigbang ที่จะจัดวันที่ 19-22 กันยายนนี้ งาน Startup Thailand งานของ DURIAN เป็นต้น แล้วเข้าไปนั่งคุยตามบูท คุยกับ Startup ที่มาออกงาน ซึ่งถ้าเราสนใจอาจจะคุยต่อกับทีมนั้นได้เลย

              2. ลงทุน Crowdfunding อย่าง LIVE Platform ของตลาดหลักทรัพย์ฯ

              3. ผ่าน VC ให้เราไปดูว่าเขาลงทุนในอุตสาหกรรมไหน หรือลงในบริษัทอะไรบ้าง ตรงกับที่เราสนใจหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ VC ในไทยเองยังไม่ค่อยเปิดรับ เน้นรับเฉพาะคนในกลุ่มเท่านั้น

              4. จัดตั้ง CVC (Corporate Venture Capital) มักเป็นบริษัทขนาดใหญ่โดยตั้งแผนกหรือบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อนำเงินไปลงทุนใน Startup และจ้างคนมาบริหารให้ ในไทยมี CVC อยู่เยอะ แต่ส่วนใหญ่จะลงใน Later Stage หรืออาจไปลงทุนใน Fund of Fund คือลงในกองทุนที่ลงทุนใน Startup อีกทีหนึ่ง

3 ประเภทนักลงทุน กับขนาดการลงทุนที่ต่างไป

เราอาจแบ่งประเภทนักลงทุนอย่างกว้างๆ ออกเป็น 3 ประเภท ตามขนาดการลงทุน คือ นักลงทุนรายย่อย รายใหญ่ และสถาบัน อย่างการลงทุนที่เหมาะกับรายย่อย คือ Crowdfunding เพราะอาจจะมีเงินลงทุนไม่ได้มาก เช่น 50,000 หรือ 100,000 บาท อย่างไรก็ตาม ควรมีทรัพย์สินเพื่อการลงทุน 5-10 ล้านบาท

แต่ถ้าเป็นรายใหญ่เงินมากหน่อยอาจจะลงทุนในลักษณะเป็น Angel Investor ได้เลย ซึ่งอาจจะลงต่อครั้ง 500,000 บาทหรือหลักล้านบาทขึ้นไป หรืออาจจะลงผ่าน VC ซึ่ง VC เล็กๆ ส่วนใหญ่มีขนาด 10 ล้านเหรียญหรือ 300 ล้านบาทขึ้นไป โดยอาจมีผู้ร่วมลงทุน 20-100 คน แต่ละคนจะลงทุน 3-15 ล้านบาท นั่นหมายความว่าแต่ละคนควรมีความมั่งคั่งอย่างน้อย 60 หรือ 100 ล้านบาทขึ้นไป 

สำหรับนักลงทุนสถาบันอาจจะเลือกตั้ง CVC ของตัวเองขึ้นมาลงทุนใน Startup โดยเฉพาะ

ก่อนจะลงทุนใน Startup ควรจะดูอย่างไรว่าตัวเองเหมาะสมกับการลงทุนใน Startup หรือไม่

สำคัญสุดคือ ต้อง เข้าใจตัวเอง ว่าลงทุนไปเพื่อเหตุผลอะไร บางคนเอ็นดูทีมงาน หรือ Founder เป็นลูกหลานเป็นญาติก็อยากช่วย Startup ให้สำเร็จ บางคนมีความฝันอยากทำเองแต่ไม่มีเวลาทำ เขาก็สนับสนุน โดยที่ไม่ได้หวังกำไรด้วยซ้ำ บางคนวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ก็ต้องดูว่าระยะสั้น กลาง หรือยาว ถ้าสั้นก็อาจจะไม่เหมาะสม เพราะ Startup จะลงทุนในแต่ละรอบของ Runway ซึ่งกินเวลา 12-18 เดือน

ต่อมาต้อง เข้าใจ Startup ที่จะลงทุน “ถ้าเรายังไม่เข้าใจก็อย่าลงทุนเลย” เพราะถ้าเค้ายังไม่สามารถอธิบายให้เราเข้าใจง่ายๆ ได้ ก็ไม่ง่ายนักที่จะทำให้คนจำนวนมากเข้าใจได้เช่นกัน และสุดท้าย เข้าใจพอร์ตการลงทุนภาพรวมของตัวเอง ว่าเราจัดสรรการลงทุนของเราอย่างไร โดยทั่วไปสัดส่วนการลงทุนใน Startup  ควรจะไม่เกิน 1-5% ของมูลค่าพอร์ตในภาพรวม ก็เพียงพอแล้ว

ลงทุนไปแล้วต้องติดดามขนาดไหน

อย่างน้อยต้องมีรายงานประจำปี หรือมีประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อรายงานนโยบาย หรือผลการดำเนินงานที่ผ่านมา หรืออย่างน้อยต้องมี Term Sheet กำกับ เพื่อกำหนดว่าเรื่องใดทำได้โดยไม่ต้องถามความเห็น เรื่องใดต้องขอมติก่อน เป็นต้น

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและรับข่าวสาร Startup ได้ทาง

Website : www.duriancorp.com  Youtube : DurianCorp

Line@ : @duriancorp

เชื่อว่าหลายท่านเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้ว คงเริ่มสนใจการลงทุนใน Startup ขึ้นมาบ้าง จึงอยากย้ำเตือนอีกครั้งว่า ยิ่งคาดหวังผลตอบแทนที่สูง ย่อมตามมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรพิจารณาจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้และผลกระทบต่อเป้าหมายการเงินในภาพรวมของตนเองด้วย และที่สำคัญควรศึกษาข้อมูลของ Startup นั้นๆอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
Tweet

Search our Blog

Recent Posts

Categories

Archive

  • CMSK
    Center of Money Skills and Knowledge.